มัลติมิเดียเทคโนโลยี
เทคโนโลยีปฏิสัมพันธ์
การนำเอาคอมพิวเตอร์มัลติมิเดียมาประยุกต์ใช้ในยุคแรกๆนั้น อยู่ในรูปของเกมเพื่อความสนุกสนาน ชื่อที่เรียกว่า นินเทนโด (Nintendo) หรือ เซกา (Zega) หรือ แฟมมิลี (Family) นั้น เป็นชื่อเรียกตามชื่อเครื่องเล่นเกมที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เด็กๆคุ้นเคยกับตลับเกมเล็กๆ เสียบลงบนอุปกรณ์เล่นเกม แล้วต่อภาพออกทางจอทีวี ภาพและสีที่มองเห็นบนหน้าจอนั้น มีความเร้าใจ ท้าทายให้เอาชนะ บางครั้งเต็มไปด้วยความดุเดือดรุนแรงด้วยการขายความมัน “ความมัน” เหล่านี้ จึงทำให้เกมเหล่านี้ครองตลาดบันเทิงสำหรับเด็กๆ นับตั้งแต่ ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา การศึกษาในท่ามกลางเทคโนโลยี ในขณะที่สังคมถูกรุกรานด้วยเทคโนโลยีและสื่อสมัยใหม่ต่างๆจนไม่ทันตั้งตัวนั้น การศึกษาต้องตกเป็นฝ่ายรับ ก่อนอื่นต้องต่อกรโดยตรงกับอิทธิพลของสื่อที่รังแต่จะโน้มน้าวหันเหผู้คนออกไปจากระบบระเบียบแบบแผนเดิม ถัดมาต้องตกเป็นฝ่ายรับในฐานะที่เป็นความคาดหวังของผู้คนว่าระบบการศึกษาควรจะทำหน้าที่อะไรบางอย่างเพื่อเตรียมคนเตรียมเยาวชนเข้าสู่โลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ การศึกษาในยุคใหม่เริ่มกลับหันมาทบทวนตัวเอง และบทบาทของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดเกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 สิ่ง คือ เนื้อหา สื่อ และวิธีจัดการเรียนรู้
แต่ก่อนนั้น นอกจากประสบการณ์ตรงของมนุษย์แล้ว ก็มีเพียงหนังสือที่เป็นสื่อชนิดเดียว ที่เป็นแหล่งความรู้ต่างๆ ต่อมาเทคโนโลยีก็ทำให้เกิดมี วิทยุ โปรเจคเตอร์ สไลด์ โทรทัศน์ ฟิล์ม เทป วีดีโอ และในที่สุดก็มี “สื่อประสม” หรือ “มัลติมิเดีย” (multimedia) ซึ่งเป็นสื่อสมัยใหม่ หนึ่งในสื่อดิจิตอลแห่งยุคเทคโนโลยีสารสนเทศนี้
มัลติมิเดียเทคโนโลยีของสื่อแห่งศตวรรษ
มัลติมิเดียได้อาศัยคอมพิวเตอร์นำเอาข้อความ ภาพ และเสียงในรูปแบบต่างมาบันทึกไว้ในรูปข้อมูลดิจิตอล แล้วนำข้อมูลนั้นมาแปลกลับแสดงผลเป็นข้อความและภาพทางจอภาพ เสียงทางลำโพง ผสมผสานกัน พร้อมกับควบคุมการแสดงผลของสื่อเหล่านั้น โดยซอฟต์แว (solfware) หรือโปรแกรมสั่งในคอมพิวเตอร์ (program) ทำให้สื่อเหล่านั้นมีลักษณะพิเศษขึ้น มีพลังในการสื่อสารอย่างมีชีวิตชีวามากกว่าการใช้อุปกรณ์อื่นๆ
คำว่า “สื่อประสม” หรือ “มัลติมิเดีย” นี้แต่เดิมใช้ในความหมายตามคำแปล โดยใช้หมายถึงสื่อที่เกิดจากการแสดงผลของข้อความ ภาพ และเสียง พร้อมๆกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง โดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ สไลด์ประกอบเสียง หรือการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆในการสาธิตหรือการสอน แต่การใช้สื่อและอุปกรณ์ดังกล่าว มีคำเฉพาะอื่นใช้แทนได้ หรือมีวิธีอธิบายแบบอื่นที่ให้ความหมายชัดเจนเข้าใจดีกว่า การใช้คำว่า “สือประสม” หรือ “มัลติมิเดีย” จึงมักถูกจำกัดใช้ในความหมายของสื่อที่มีลักษณะพิเศษเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
ซีดีรอม
เทคโนโลยีปฏิสัมพันธ์
มัลติมิเดีย (multimedia) พัฒนามาพร้อมกับการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ ให้มีปฏิสัมพันธ์หรือโต้ตอบ (interactive response) กับผู้ใช้ได้ ผู้ใช้ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าเมาส์ (mouse) ชี้ตำแหน่งบนจอภาพ ใช้แป้นพิมพ์ (keyboard) ป้อนข้อมูล หรือใช้จอยสติก (joystick) หรือเกมแพด (gamepad) ควบคุมการเคลื่อนไหวของภาพในขณะเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ส่วนคอมพิวเตอร์จะส่งข้อมูลโต้ตอบเป็นข้อความและภาพทางจอภาพ และเป็นเสียงออกทางลำโพง สื่อมัลติมิเดียเช่นนี้เรียกว่า สื่อมัลติมิเดียที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ (interactive multimedia)
หนังสืออ้างอิง พรวิไล เลิศวิชา. มัลติมิเดียเทคโนโลยีกับโรงเรียนในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2544.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น